Scope

ความเป็นมา

ในขณะที่ระบบโลกในยุคโลกาภิวัตน์กำลังบูรณาการเข้าด้วยกันในทุกมิติ พัฒนาการทางเศรษฐกิจในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมาของอภิมหาอำนาจทางวัฒนธรรมในเอเชียอย่างประเทศจีนกับอินเดียหลังจากที่ตกอยู่ในภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจมากกว่าหนึ่งศตวรรษครึ่ง ทำให้ศูนย์กลางของระบบเศรษฐกิจโลกได้เคลื่อนย้ายมาสู่เอเชีย ภูมิภาคเอเชียจึงกลายเป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในภูมิศาสตร์การเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศของโลก การกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศไทยให้สอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์การเมืองโลกดังกล่าวจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ประเทศไทยประกาศตัวผนวกเข้ากับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นด้วยการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community – AEC) ในปี พ.ศ.2558 และข้อเสนอให้มีการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก (East Asian Economic Community) ด้วยเหตุที่การค้าและการลงทุนของประเทศไทยต้องผูกพันกับภูมิภาคเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากยิ่งขึ้น และข้อตกลงทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในกรอบเศรษฐกิจที่สัมพันธ์ร้อยรัดประเทศไทยเข้ากับภูมิภาคเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปรากฏขึ้นเป็นจำนวนมากในช่วงระยะเวลา3ทศวรรษที่ผ่านมา เช่น เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA), ความร่วมมือในเขตการค้าเสรีอาเซียนกับจีน อินเดียและดินแดนอื่นๆ (AFTA with China, India and the rest), เขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออก (East Asian Free Trade), เขตการค้าเสรีอาเซียนกับจีน (ASEAN-China Free Trade Area) และเขตความร่วมมือในลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Subregion) โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการระบบเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมโยงจีนเข้ากับทวีปเอเชียทั้งหมด ซึ่งจะทำให้จีนเปิดเส้นทางคมนาคมขนส่งลงสู่เมืองท่าชายฝั่งทะเลได้รอบทิศในทุกน่านน้ำ จากเดิมที่เคยถูกปิดล้อมในช่วงสงครามเย็น ภูมิภาคเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงไม่ได้เป็นแค่พื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญในการกำหนดทิศทางของเศรษฐกิจและการเมืองโลกในยุคหลังสมัยใหม่ แต่คือหุ้นส่วนสำคัญทั้งในทางเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ความมั่นคงของประเทศไทยและมีแนวโน้มว่าจะทวีความสำคัญยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต

ในอดีตที่ผ่านมา แม้สังคมไทยจะเคยมีจารีตอันยาวนานของการสั่งสมองค์ความรู้และการผลิตความรู้เกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้/ภูมิภาคเอเชีย แต่การเปลี่ยนแปลงทั้งในทางการเมืองระหว่างประเทศและการพัฒนาด้านอารยธรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทำให้ศูนย์กลางในการผลิตความรู้ได้เคลื่อนย้ายไปยังโลกตะวันตก จนทำให้ความรู้และสถาบันในการผลิตความรู้เกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา/เอเชียศึกษาที่สังคมไทยมีอยู่ในปัจจุบันโดยส่วนใหญ่ต้องหันไปพึ่งพิงโลกตะวันตก การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายใต้บริบทเช่นนี้ล้วนเป็นโจทย์ วิธีคิด มุมมอง และทฤษฎีของนักคิดในสังคมตะวันตก โดยสังคมไทยไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญในกระบวนการผลิตความรู้ดังกล่าว โดยเฉพาะความรู้ที่เกี่ยวกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ยุทธศาสตร์ความมั่นคงของประเทศ ตลอดจนปัญหาที่ผูกพันชะตากรรมของผู้คนในภูมิภาคนี้ ในฐานะที่สังคมไทยมีส่วนได้ส่วนเสียอย่างสำคัญต่อภาวะความเป็นไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้/ภูมิภาคเอเชียและต่อการกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศในบริบทของภูมิศาสตร์การเมืองและเศรษฐกิจโลก การผลิตนักวิจัยที่มีทักษะและคุณภาพในการวิจัย ตลอดจนการผลิตความรู้เกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้/ภูมิภาคเอเชียให้เป็นระบบ จึงเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนในนโยบายด้านการศึกษาของประเทศ เพื่อรองรับยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศไทย 20 ปี (Thailand 4.0) อีกทั้งเพื่อจัดวางให้สังคมไทยมีบทบาทนำด้านความคิดและการกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศและภูมิภาคในกระแสการเปลี่ยนแปลงระดับโลก

ดังนั้นเพื่อให้กระบวนการพัฒนาการศึกษาค้นคว้าวิจัยเพื่อการผลิตความรู้และการจัดการความรู้เกี่ยวกับ“เอเชียตะวันออกเฉียงใต้”ดำเนินไปอย่างครอบคลุมและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศไทยในบริบทของภูมิศาสตร์การเมืองโลกยุคปัจจุบัน ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จึงเห็นควรให้มีการพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา โดยมุ่งสร้างนักวิจัยระดับสูงและพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา เพื่อให้สามารถพัฒนาที่มีคุณภาพและสามารถผลิตความรู้ใหม่ๆ มาตอบสนองความต้องการของประเทศและโลกยุคใหม่ในขณะที่สังคมไทย/เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังต้องการนักคิด-ผู้มีความรู้ด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาเพื่อให้มีบทบาทในการกำหนดทิศทางการพัฒนาของสังคมไทยและของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มุ่งดำเนินไปตามแนวทางการพัฒนาภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาคนสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน และยุทธศาสตร์การสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาคเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่12 (พ.ศ.2560-2564) ที่จัดทำขึ้นบนพื้นฐานของกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ซึ่งเป็นแผนหลักของการพัฒนาประเทศและมีเป้าหมายอยู่ที่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) รวมทั้งการปรับโครงสร้างประเทศไทยไปสู่ประเทศไทย4.0 โดยจะให้ความสาคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคีการพัฒนาทุกภาคส่วน ทั้งในระดับกลุ่มอาชีพ ระดับภาค และ ระดับประเทศในทุกขั้นตอนของแผนฯ อย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง เพื่อร่วมกันกำหนดวิสัยทัศน์และทิศทางการพัฒนาประเทศ รวมทั้งร่วมจัดทำรายละเอียดยุทธศาสตร์ของแผนฯ เพื่อมุ่งสู่ “ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”กล่าวคือ

ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาคนสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน คือ การมุ่งพัฒนาคุณภาพของคนด้วยการเรียนรู้ในศาสตร์วิทยาการให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างหลากหลาย สอดคล้องกับแนวโน้มการจ้างงานและเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และเพื่อสร้างจิตสำนึกคนไทยให้ยอมรับความแตกต่างของความหลากหลายทางวัฒนธรรมอันจะเป็นรากฐานสำคัญในการลดปัญหาความขัดแย้งทางความคิด สร้างความเป็นเอกภาพในสังคม และสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวัฒนธรรมร่วมกับประชาคมโลก โดยเฉพาะประชาคมอาเซียนให้เกิดการไหลเวียนทางวัฒนธรรมในรูปแบบการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ส่งเสริมความเข้าใจระหว่างประชาชนในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลข่าวสาร ส่วนยุทธศาสตร์การสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาคเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมนั้น เป้าหมายสำคัญ คือ

(1) การพัฒนาฐานลงทุนโดยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับอนุภูมิภาค ซึ่งมุ่งพัฒนาองค์ความรู้ในระดับพื้นที่ของประเทศให้เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเป็นฐานการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม การเกษตร และการท่องเที่ยว พัฒนาเขตเศรษฐกิจชายแดนและเมืองชายแดน รวมทั้งบูรณาการแผนพัฒนาพื้นที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านให้บรรลุประโยชน์ร่วมกันทั้งด้านความมั่นคงและเสถียรภาพของพื้นที่

(2) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความสามารถและศักยภาพในการแข่งขันในประชาคมอาเซียน โดยพัฒนาความร่วมมือในการผลิตความรู้และทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เสริมสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันการศึกษา ทั้งในแง่ของงานวิจัยและนักวิจัย ให้มีมาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

(3) การเข้าร่วมเป็นภาคีความร่วมมือระหว่างประเทศและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายใต้บทบาทที่สร้างสรรค์ มุ่งรักษาบทบาทของไทยในการมีส่วนร่วมกำหนดยุทธศาสตร์ของกรอบความร่วมมือที่ดำเนินอยู่ รวมทั้งรักษาดุลยภาพของปฏิสัมพันธ์กับมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเดิมและมหาอำนาจใหม่

การพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คือ การ บูรณาการเรื่อง ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจในรากเหง้าของตนและของผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีชีวิตผูกพันกันมายาวนาน และเรียนรู้การอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขในท่ามกลางความหลากหลาย ความรู้และความเข้าใจต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างบูรณาการจึงจะเป็นพลังให้สังคมไทยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ลดทอนความขัดแย้งแตกแยกทางความคิด และเป็นภูมิปัญญาที่จะทำให้สังคมไทยสามารถรับมือกับกระแสการไหลบ่าของข่าวสารข้อมูลในยุคปัจจุบัน การพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา จึงถือเป็นการส่งเสริมและต่อยอดการพัฒนาหลักสูตรในเชิงบูรณาการของภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้ครอบคลุมตั้งแต่การศึกษาในระดับปริญญาตรีจนถึงระดับบัณฑิตศึกษา กล่าวคือ สามารถต่อยอดจากการศึกษาในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทด้านประวัติศาสตร์หรือสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ขึ้นไปสู่ศึกษาวิจัยขั้นสูงในระดับปริญญาเอกในด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาต่อไป

นอกจากนี้ การพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา จะรองรับการศึกษาข้ามพรมแดนและเป็นการให้บริการการศึกษาที่มีคุณภาพต่อเพื่อนสมาชิกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้/ภูมิภาคเอเชียอันเป็นมิตรประเทศที่เป็นคู่เจรจา (dialogue partners)ในกรอบของประชาคมอาเซียนและประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน


ปรัชญาของหลักสูตร

หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต และหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา เน้นการศึกษาวิจัยแบบสหวิทยาการ (interdisciplinary) โดยมี “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้”เป็นหน่วยของการวิเคราะห์และการค้นคว้าวิจัยที่ครอบคลุมในทุกมิติ ตั้งแต่ระบบคิด ปรัชญา อารยธรรม ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ ศาสนา ภาษา สิ่งแวดล้อม ฯลฯ เพื่อตอบสนองนโยบายยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศและนำไปสู่ “ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”

หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต และปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มีหลักปรัชญาเป้าหมาย คือ


1) เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีทักษะและคุณภาพระดับสูงในด้านการวิจัยเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีจิตสำนึกยอมรับความแตกต่างหลากหลายและร่วมรู้สึกสำนึกต่อประสบการณ์ร่วมกันของผู้คนในภูมิภาค ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาคนสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน

2) เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ใหม่และการวิจัยในเชิงสหวิทยาการ (interdisciplinary) เกี่ยวกับประชาคมอาเซียนและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ

3) เพื่อเชื่อมโยงกับเครือข่ายความร่วมมือด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และระดับนานาชาติ


วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
เพื่อผลิตมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตที่มีคุณลักษณะดังนี้

1) มีศักยภาพระดับสูงในการวิจัยเชิงสหวิทยาการแบบบูรณาการ และสามารถทำการศึกษาค้นคว้าได้อย่างเป็นอิสระและลุ่มลึก

2) มีความรอบรู้เชี่ยวชาญต่อพัฒนาการล่าสุดขององค์ความรู้ในสาขาวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาและอาเซียนศึกษา โดยเฉพาะการวิจัยเพื่อการพัฒนาและแก้ปัญหาสำคัญที่สังคมไทยกำลังเผชิญหน้าอยู่

3) มีความสามารถในการผลิตองค์ความรู้ใหม่ทางด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาหรือพัฒนาเนื้อหาสาระขององค์ความรู้ในสาขาวิชาให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นในระดับสากล รวมทั้งการจัดการความรู้ด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาอย่างเป็นระบบ